เวลา 13.30 น. วันที่ 22 พ.ค.2568 ศาลปกครองสูงสุดโดยนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะ เตรียมออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในคดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท
ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันฟ้องนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 9 คน (สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้แก่ รมว.คลัง รมช.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท รวมถึงยกเลิกการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้ร่วมฟ้องอีกคนหนึ่ง เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือมีเจตนาทุจริต อีกทั้งกระบวนการชี้สัดส่วนความรับผิดร้อยละ 20 ของความเสียหายก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องสอบสวนหาตัวผู้รับผิด และจำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้
เพื่อให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิด ในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิด มากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้เดียวเป็นผู้กระทำ โดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ
บรรยากาศที่สำนักงานศาลปกครอง ทางสำนักงานได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้องราว 20 นายมารักษาความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนทั้งจากไทยและต่างประเทศมาติดตามการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท เนื่องจากหมิ่นประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหาย
ที่ศาลปกครองสูงสุดนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท ในคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท
เส้นทางถูกเรียกชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน
13 ปี ทุจริตจำนำข้าว ถึงจุดปิดฉากมหากาพย์ เป็นคดีที่ต่อเนื่องจากปี 2560 หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ให้จำคุกอดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อ 27 กันยายน 2560 ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
จากนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดของกระทรวงการคลัง ได้เรียกค่าเสียหายในส่วนที่ต้องรับผิดชอบ 178,000 ล้านบาท แต่ผู้พิจารณาในขั้นสุดท้ายเห็นว่ามีการเสียหายตามจำนวนดังกล่าว และวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้รับผิดชอบ 35,717,273,028 บาท
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น กับพวกรวม 9 คน ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทที่เกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณีให้ชดใช้ค่าเสียหายใน “โครงการจำนำข้าว มูลค่ารวมกว่า 35,717,273,028 บาท
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มาฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งให้รับผิดนี้ ซึ่งเรื่องนี้มี 4 โครงการ ทางศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยกรณีความรับผิดว่า เป็นเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในฐานะนายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทั้งหลายที่ได้หารือถึงการกำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตจำนำข้าว ฉะนั้น ความผิดจึงไม่ได้มีเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว และเป็นความผิดในเรื่องของนโยบาย
ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงเพิกถอนคำสั่งที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ฟ้องคดีชดใช้สินไหมทดแทน 35,000 ล้านบาท ทางผู้ฟ้องก็ได้อุทธรณ์ จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น.