วันที่ 25 สิงหาคม 2567 จากสถานการณ์น้ำทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี กรมชลประทาน ได้ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และการบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 4 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ
เนื่องจากพบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567 คาดว่าในอีก 1-3 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,000 ลบ.ม./วินาที รวมปริมาณน้ำสาอีก 200 ลบ.ม./วินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทานจึงต้องปรับการระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700-900 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.40 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.อยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.อยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีการระบาย มากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 952 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจหลักสำคัญก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.95 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 9.40 เมตร/รทก. มีระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.94 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 649 ลบ.ม./วินาที
ซึ่งจากการระบายน้ำดังกล่าวส่งผลทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเกือบเมตรตามประกาศก่อนหน้านี้ของกรมชลประทาน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรอรับมวลน้ำจากทางภาคเหนือที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด