ข่าวดีสำหรับผู้มีภาระหนี้บ้านและรถ” รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือสุดพิเศษ ด้วยการ ยกเลิกดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และ ลดค่างวดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก มาตรการนี้ถือเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ที่กำลังประสบปัญหาหนี้สิน ให้สามารถกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินไป
แก้หนี้บ้าน-รถ รายงานจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 89.6% ยอดคงค้าง 16.32 ล้านล้านบาท โดยมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้มีการประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ย. 2567 ซึ่งคาดหวังว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ปลดล็อก NPL ไม่เกิน 1 ปี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนได้มอบหมายตัวแทนกระทรวงการคลัง ไปหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเป้าหมายการแก้หนี้ครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุ 2 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถชำระได้ตามกำลัง และ 2.ช่วยให้มีลู่ทางเข้าถึงสินเชื่อได้
กลุ่มลูกหนี้ที่จะเข้าไปช่วย คือ กลุ่มหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วันแต่ยังไม่เกิน 90 วัน และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งรวม ๆ แล้ว มีอยู่กว่า 1 ล้านราย
เราเลือกกลุ่มคนที่เพิ่งมีปัญหา พูดง่าย ๆ คือเพิ่งค้างเกิน 30 วัน เราก็เอามาดูด้วย แล้วก็เอาส่วนที่เกิน 90 วัน ไปจนถึง 6 เดือนมาดูด้วย แต่ก็คิดว่าดูถึง 1 ปีเลย เพราะถือว่า 1 ปี ถึงจะยาวไปหน่อย แต่ก็คิดว่ายังเป็นกลุ่มที่น่าจะแก้ไขได้ แต่ที่เกิน 1 ปีไปยาว ๆ อันนั้นเอาไว้ก่อน เพราะอันนั้นแก้ตัวยากแล้ว”
พักดอกเบี้ย 3 ปีหักต้นก่อน
นายพิชัยกล่าวว่า เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีความสามารถชำระหนี้ต่อไปได้ จึงเสนอให้มีการพักชำระดอกเบี้ยยาว 3 ปี โดยแหล่งเงินที่เข้ามาช่วยจากทั้งภาครัฐและธนาคารจะต้องช่วยกัน ส่วนหนี้ที่เหลือก็ให้ปรับโครงสร้างให้ผ่อนได้ยาวขึ้น และผ่อนต่องวดลดลง โดยเบื้องต้นอยากให้ลูกหนี้จ่ายต่องวดลดลงเหลือครึ่งเดียว และเงินงวดที่จ่ายมาก็เป็นการไปลดต้นทั้งหมด ซึ่งถ้าออกมาได้อย่างนี้ก็จะดี
ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะยังคงมีการรายงานประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโร ให้เป็นหน้าที่ของธนาคาร พิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่หรือไม่ โดยจะต้องหารือกับผู้ว่าการ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้เข้าถึงสินเชื่อด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะต้องหารือกับ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV (การวางเงินดาวน์) ต่าง ๆ ด้วย เพื่อช่วยเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ
เร่งแก้หนี้เพิ่มกำลังซื้อ
นายพิชัยกล่าวด้วยว่า แนวทางเหล่านี้ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์แล้ว และส่วนใหญ่เห็นด้วย อยู่ระหว่างหาข้อสรุปสุดท้าย ก็จะพิจารณาว่า แหล่งของเงินที่จะมาช่วยเรื่องดอกเบี้ยจะมาจากไหน เพื่อดูว่าต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ต่อไป
โดยที่ผ่านมา นายพิชัยให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ สินเชื่ออุปโภคบริโภค รัฐบาลให้ความสำคัญจะเร่งทำให้เสร็จ หากแก้ไขได้จะทำให้ประชาชนกลับมามีกำลังซื้อ และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามมา
บ้านไม่เกิน 3 ล้าน-รถ 8 แสน
มาตรการแก้หนี้ที่กำลังหารือกันขณะนี้ เป้าหมายคือในส่วนของหนี้บ้านและหนี้รถ จากที่หารือลูกหนี้ที่จะได้สิทธิเข้าร่วมโครงการแก้หนี้มาตรการพิเศษ ต้องเป็นกลุ่มที่เริ่มมีการค้างชำระเกิน 30 วัน กระทั่งกลายเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระเกิน 90 วัน) ไม่เกิน 1 ปี โดยในส่วนของลูกหนี้บ้าน ที่มียอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท และสินเชื่อรถ ก็กำหนดให้เฉพาะที่มียอดหนี้ประมาณ 8-9 แสนบาท เพราะเป้าหมายคือช่วยประชาชนกลุ่มกลาง-ล่าง โดยหาแนวทางให้ลูกหนี้สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ เพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ
โดยหลักการช่วยเหลือคือให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้พิเศษ โดยให้มีการทำสัญญาไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรก และการผ่อนชำระแต่ละงวดให้ลดน้อยลง รวมทั้งเป็นการตัดเงินต้นทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ 3 ปีแรก จะพักไว้ก่อนและยกให้ลูกหนี้ ก็ต่อเมื่อลูกหนี้รายดังกล่าวดำเนินการชำระหนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้จนครบสัญญา
การดำเนินมาตรการแก้หนี้พิเศษครั้งนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกแบงก์เท่านั้น ยังไม่รวมในส่วนของผู้ประกอบการน็อนแบงก์อื่น ๆ โดยจากเงื่อนไขในเบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนลูกหนี้เข้าร่วมโครงการกว่าแสนราย และมูลหนี้กว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า