สลด! นักเรียนหญิงม.3 โรงเรียนดังโคราช ตกจากชั้น 7 อาการสาหัส เพื่อนเห็นภาพระทึก
เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา รับแจ้งเหตุนักเรียนพลัดตกจากอาคารเรียนในโรงเรียนดัง จ.นครราชสีมา จึงรุดไปตรวจสอบ ที่เกิดเหตุบนดาดฟ้าชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ พบเศษชิ้นส่วนวัสดุกระจกกรองแสงแตก ส่วนร่างผู้บาดเจ็บเป็นนักเรียนหญิง ชั้น ม.3/19 พลัดตกจากชั้น 7 หน่วยกู้ชีพได้นำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา อาการสาหัส ซึ่งในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากำลังเรียนชั่วโมงเรียน จึงมีเพื่อนนักเรียนเห็นภาพสยองต่างส่งเสียงหวีดร้องตกใจและเกิดความโกลาหล ผู้บริหารและครูได้ประกาศเสียงตามสายให้หยุดการเรียนการสอนชั่วคราว พร้อมสั่งห้ามแจ้งข่าวและถ่ายภาพเด็ดขาด โดยปิดประตูกั้นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปด้านใน
ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ โรงเรียนได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เพื่อสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง พร้อมกันนี้ ได้รายงานเหตุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น และแจ้งให้ผู้ปกครองเด็กทราบเรื่องแล้ว ในเบื้องต้นคาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากปัญหาส่วนตัวของเด็ก ซึ่งหลังจากนี้ ทางโรงเรียนจะวางแผนร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในกลุ่มครูและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ โรงเรียนมัธยมในจังหวัดนครราชสีมาเคยเกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนกระโดดตึกอาคารเรียนลงมาเสียชีวิตแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เด็กนักเรียนชาย ชั้น ม.3/1 ได้กระโดดตึกอาคารเรียนลงมาเสียชีวิต คาดว่า สาเหตุเกิดจากปัญหาส่วนตัว และในปีเดียวกัน
โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชื่อดังของจังหวัดนครราชสีมาอีก 2 แห่ง ก็เคยเกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนมัธยมกระโดดอาคารเรียนเสียชีวิต ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เด็กนักเรียนชายชั้น ม.6 ก็กระโดดอาคารเรียนลงมาเสียชีวิต และล่าสุดในวันนี้ ก็มาเกิดเหตุลักษณะเดียวกัน
ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ทุกครั้ง ทางสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการวางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนักเรียนกระโดดอาคารเรียนฆ่าตัวตายซ้ำอีก โดยได้สำรวจจุดอับ จุดเสี่ยง ตามอาคารเรียนต่างๆ และกวดขันพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดเหตุ
พร้อมทั้งประสานนักจิตวิทยาให้เข้าไปอบรมให้ความรู้แก่ครูที่ปรึกษา และเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า โดยจะให้ครูที่ปรึกษาและครูประจำชั้น ช่วยคัดกรองนักเรียนกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อให้เข้ามาเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยา แต่แล้วก็ยังเกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก