แพรรี่โพสต์ภาพทองกองเต็มพื้น ชี้ถ้าไม่บอกว่าเป็นทอง 99.9% นึกว่าเป็นทองกงเต็ก ด้านผู้การ ปคบ.สั่งตรวจสอบดรามา “หลอกขายทองปลอม” ในออนไลน์ เผยตอนนี้ยังไม่มีใครมาแจ้งความ
จากกรณีในโลกออนไลน์มีการออกมาเตือนซื้อทองจากร้านค้าออนไลน์ดังในติ๊กต็อก จากนั้นนำไปขายที่ร้านทอง ปรากฏว่าร้านไม่รับซื้อ ชี้ทองไม่มียี่ห้อและเปอร์เซ็นต์ทองบอกไว้ เผยคนโดนหลอกกันเยอะมาก แนะมาซื้อที่ร้านดีกว่าได้ใบรับประกัน
ต่อมา “แพรรี่” หรือ “อดีตพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” โพสต์คลิปดึงสติชาวเน็ต ซื้อทองให้ไปซื้อที่หน้าร้าน อย่ามักง่ายซื้อร้านค้าในออนไลน์ อย่าหลงแค่แม่ค้าเป็นคนดัง คนใจบุญ อย่าโง่ให้โดนหลอก
ล่าสุดวันนี้ (23 ก.ย.) “แพรรี่” ขยี้อีก โพสต์ภาพทองกองเต็มพื้น พร้อมระบุข้อความว่า
“ถ้าไม่บอกว่าเป็นทอง 99.9% ที่เอฟมาจากร้านทอง ร้านไหนก็ไม่รู้ใน TikTok ดิฉันนึกว่าเป็นทองกงเต็กที่เอาไว้เผาให้บรรพบุรุษนะคะเนี่ย ฉ่ำฉ่ำค่ะ ทั้งหมดนี่ก็เกือบครึ่งแสน
เผาไปให้บรรพบุรุษ บรรพบุรุษยังโกรธเลยค่ะ”
อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เช่น
โดนมาเยอะแยะ ตอนกล่องสุ่ม
ขายทองไม่ผิดหรอก แต่ไม่พูดความจริงนี่ผิดมาก เสียจรรยาบรรณแม่ค้าออนไลน์ที่สุด ของจากจีนทำสวยทำเนียนนะ บอกเลย
กำไรสุดๆๆ คนขาย
เสียดายเงินมาก กว่าจะหามาได้.. ทำนาบนหลังคน พวกแม่ค้าแบบนี้ต้องจัดให้หนักๆ ถึงว่ารวยเร็วมาก
เงินตั้งครึ่งแสน ไปซื้อทองจริง 96.5% ในร้านทองจริงๆ เลยดีกว่ามั้ย
นอกจากนี้ มีรายงานว่า พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สั่งทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงดรามาแม่ค้าออนไลน์ “หลอกขายทองปลอม” เผยตอนนี้ยังไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความ
ผู้การ ปคบ.ได้กล่าวว่า กรณีนี้ต้องดูว่าผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงหรือไม่ ส่วนเรื่องที่แม่ค้าขายทองออนไลน์ประกาศโจ่งแจ้งว่าทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อผู้ซื้อนำไปขายหรือจำนำแล้วไม่มีใครรับ อาจเป็นไปได้ว่า ‘ร้านค้ามีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค’ หรือ ‘เป็นไปได้ว่าส่วนผสมของทองเปอร์เซ็นต์ไม่ครบตามที่แจ้ง’
ฉะนั้นจำเป็นจะต้องดูเจตนารายละเอียดตามข้อเท็จจริงว่าผู้ซื้อมีการตกลงกับทางผู้ขายอย่างไร เช่น มีการโฆษณาชักชวนแบบไหน อ้างถึงคุณภาพลักษณะ น้ำหนัก เปอร์เซ็นต์ของทองที่ขายอย่างไร หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ
เรื่องการขายสินค้าออนไลน์ ทางตำรวจ ปคบ.มีการติดตามอยู่ตลอดว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ มีการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ แต่โดยหลักแล้วจะต้องมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษก่อน เพราะเราจะไปกล่าวหาโดยไม่มีผู้เสียหายไม่ได้ จะทำให้การดำเนินคดีมีความยุ่งยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาล
ดรามาดังกล่าวทาง ปคบ.ยังไม่ปรากฏมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ส่วนที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียกัน ทางตำรวจ ปคบ.ก็จะต้องมีการพิสูจน์ทราบก่อนโดยฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงหลายๆ ด้าน ซึ่งได้มอบหมายให้ทีมติดตามและรวบรวมข้อมูลของแต่ละฝ่ายไว้แล้ว หากเรื่องนี้มีผู้เสียหายมาแจ้งความจะยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะมีพยานบุคคลมาประกอบการพิจารณา