จากกรณีที่ สมาคมดาราศาสตร์ไทย โพสต์ข้อความเตือน พายุแม่เหล็กโลก ที่ตอนนี้มีแนวโน้มจะขึ้นถึงระดับ G4 และ G5 หลังจากที่ดวงอาทิตย์มีการปะทุแฟลร์รุนแรงระดับ X1.8 พร้อมพ่นมวลโคโรนาความเร็วสูงมายังโลก เมื่อวานนี้ (9 ต.ค. 2567) เวลา 8:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
โดยทาง NOAA ได้ออกมาเตือน ประกาศเฝ้าติดตาม พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีโอกาส 25% ที่จะทวีความรุนแรงสู่ระดับสุดขั้ว G5
โดย อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้มาคอมเมนต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า (จากโพสต์สมาคมฯ) “ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ที่มีผลมาถึงโลก คือ พายุแม่เหล็กโลก เกิดจากลมสุริยะที่มีความรุนแรงปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้การปะทะนี้จะเกิดขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเทคโนโลยีอวกาศ เช่นดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือการสื่อสารวิทยุ ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์มีไม่มากนัก”
พายุแม่เหล็กโลก เกิดจาก ลมสุริยะ ที่มีความรุนแรงปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้การปะทะนี้จะเกิดขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเทคโนโลยีอวกาศ เช่นดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือการสื่อสารวิทยุ ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์มีไม่มากนัก
มีระดับความรุนแรง 5 ระดับ คือ G5 รุนแรงที่สุด ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าและระบบป้องกันเสียหายทั่ว ระบบสายส่งไฟฟ้าอาจล่มหรือดับถาวร หม้อแปลงไฟฟ้าอาจเสียหาย ยานอวกาศมีปัญหาจากประจุเข้มข้นที่สะสมที่ผิวยาน มีปัญหาด้านการสื่อสารและการควบคุมทิศ กระแสไฟฟ้าในท่อส่งน้ำอาจสูงหลายร้อยแอมแปร์ การกระจายสัญญาณความถี่สูงล้มเหลว เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 40 องศา
G4 รุนแรงมาก ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง ยานอวกาศอาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิวและอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา การกระจายสัญญาณความถี่สูงขัดข้องเป็นระยะ
G3 รุนแรงปานกลาง แรงดันไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้าผิดปรกติ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบปรับแรงดัน อาจเกิดการสะสมประจุในชิ้นส่วนของดาวเทียมและอาจเกิดความผิดพลาดกับระบบควบคุมทิศทาง มีปัญหากับระบบกระจายสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำเป็นระยะ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามลงไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 50 องศา
G2 ปานกลาง ระบบสายส่งไฟฟ้าที่ละติจูดสูงๆ อาจเกิดความผิดปรกติของแรงดัน หากเกิดเป็นเวลานานอาจทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าเสียหาย การควบคุมทิศทางของดาวเทียมอาจเกิดความผิดปรกติแต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบรักษาทิศทาง และอาจทำให้วงโคจรเปลี่ยนแปลง สัญญาณความถี่สูงที่ละติจูดสูงอาจอ่อนกำลัง เกิดแสงเหนือใต้ลามมาถึงระดับ 55 องศา
G1 น้อย เกิดความผันผวนของแรงดันในระบบส่งกำลังไฟฟ้าเล็กน้อย สัตว์ที่อพยพโดยใช้สนามแม่เหล็กในการกำหนดทิศอาจสับสน เกิดแสงเหนือใต้ที่ละติจูดสูง
ข้อมูล สมาคมดาราศาสตร์ไทย