ถกบัตรคนจน รื้อเกณฑ์ใหม่ หวังช่วยตรงเป้า ลบคำครหาจนไม่จริงได้สิทธิ

Author:

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน จะประชุมคณะกรรมการกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อหารือถึงกรอบการทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ และสวัสดิการรัฐจากทุกหน่วยงาน ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และลบคำครหาช่วยคนรวย ไม่ช่วยคนจนจริงๆ

โดยการประชุมครั้งนี้ จะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เป็นเพียงการนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแจ้งให้ทราบถึงนโยบายการทบทวนสิทธิสวัสดิการรัฐทั้งหมด “เป็นครั้งแรกของการประชุมกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ คงยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เพียงแต่จะมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเตรียมข้อมูลต่างๆ แล้วมาหารือร่วมกัน รวมถึงตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ไม่อยากให้เกิดคำครหาว่าคนจนจริง ไม่ได้รับสิทธิ แต่คนรวยได้สิทธิ เพราะสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไปเรื่อยๆ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน นายจุลพันธ์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้จะคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ โดย 3 รายชื่อที่เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง อีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คนคือ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยการประชุมดังกล่าวเลื่อนมาจากวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังยังยืนยันเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสการคัดค้านนายกิตติรัตน์อย่างหนัก กระทั่งมีกระแสข่าวจากกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนตัว โดยจะเสนอชื่อนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง จนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิหายนที่ผ่านมา กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมได้ออกแถลงการณ์ฉบับ 3 คัดค้านทั้งนายกิตติรัตน์ และนายพงษ์ภาณุ

โดยเรียกร้องคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 ท่านพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ตามคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก คำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ให้ ธปท.เป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *